กำลังโหลด...

×



Tax “ตู้คีบตุ๊กตา” ของต้องห้ามนำเข้าและนำผ่านราชอาณาจั...

magazine image
Tax

“ตู้คีบตุ๊กตา” ของต้องห้ามนำเข้าและนำผ่านราชอาณาจักร

รติรัตน์ คงเอียด

28 พฤศจิกายน 2567

ตามที่ได้กล่าวมาในบทความฉบับที่แล้ว ซึ่งผู้เขียนได้หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเครื่องคีบตุ๊กตาตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10330/2546 ในประเด็นว่า หากสินค้าเครื่องคีบตุ๊กตาได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรจัดเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรและต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร แต่หากเป็นเครื่องคีบตุ๊กตาที่ผลิตภายในประเทศ เมื่อเป็นสินค้าภายในประเทศก็จะมิใช่สินค้านำเข้าและมิได้เป็นสินค้าต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เครื่องคีบตุ๊กตาหรือตู้คีบสินค้าบางอย่างอาจเข้าข่ายลักษณะเป็นเครื่องเล่นการพนัน ตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการพนันมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหมายควบคุมการเล่นการพนันที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และมีผลกระทบของสังคมส่วนรวมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ อีกทั้งตู้คีบสินค้ายังมีคำพิพากษาหลายเรื่องที่วินิจฉัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ ทำให้เกิดเงื่อนแง่ในการตีความกฎหมายและประเด็นเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายอีกหลายกรณี จนทำให้เกิดประเด็นแห่งความสงสัยได้ว่า เครื่องคีบตุ๊กตาหรือตู้คีบสินค้าที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้าโดยทั่วไปนั้น มีลักษณะที่เข้าข่ายเป็นเครื่องเล่นการพนันหรือไม่ อย่างไร

บทความในฉบับนี้ ผู้เขียนขออธิบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องคีบตุ๊กตาหรือตู้คีบสินค้าว่า กรณีใดผิดหรือไม่ผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 และในส่วนสินค้านำเข้าและนำผ่านมีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ที่ห้ามมิให้นำเข้าและนำผ่านราชอาณาจักรไว้อย่างไร ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

1. ประเภทพิกัดศุลกากรเครื่องคีบตุ๊กตาที่กฎหมายควบคุม

เครื่องคีบตุ๊กตาจัดเป็นสินค้าในพิกัดที่ 95.04 ตัวเครื่องมีลักษณะการทำงานให้ผู้เล่นหยอดเหรียญ แล้วกดปุ่มให้เครื่องคนตุ๊กตา จากนั้นผู้เล่นจะยกตัวคีบตุ๊กตาไปคีบตุ๊กตา หากคีบได้สำเร็จจะได้ตุ๊กตาไป หากคีบไม่ได้จะเสียเงิน 10 บาทให้เจ้าของตู้ เครื่องเล่นนั้นเพื่อประสงค์จะเล่นให้ได้ตุ๊กตาในตู้เท่านั้น การเล่นเพื่อให้ได้ตุ๊กตาจึงเป็นการเล่นเพียงให้เกิดผลแพ้ชนะกันได้ ถือได้ว่าเจ้าของเครื่องเป็นผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่งด้วย

2. ตู้คีบสินค้าที่เข้าข่ายเป็นเครื่องเล่นพนันคืออะไร

กระทรวงมหาดไทยได้เคยมีหนังสือที่ มท 0307.10/ว 1081 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อแจ้งให้ทุกจังหวัดทราบว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีนโยบายไม่อนุญาตจัดให้มีการเล่นเครื่องเล่นตู้คีบตุ๊กตาที่เป็นการพนัน พร้อมทั้งให้ดำเนินการจับกุมและปราบปรามกับผู้ฝ่าฝืน โดยกำหนดให้ “ตู้คีบสินค้า” ตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ที่เข้าข่ายเป็นเครื่องเล่นพนันและไม่เป็นเครื่องเล่นพนัน สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

2.1 ตู้คีบสินค้าที่ไม่เข้าข่ายเป็นเครื่องเล่นพนัน 

ตามบัญชี ข. ลำดับที่ 28 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ได้แก่ ตู้คีบสินค้าที่มีวิธีการเล่น คือ ผู้เล่นหยอดเหรียญครบตามราคาสินค้าที่กำหนดเพื่อให้เครื่องทำงาน แม้จะใช้วิธีสัมผัส เลื่อน กด ดีด ดึง ยิง โยก หมุน หรือวิธีอื่นใด เมื่อผู้ซื้อสินค้าชำระราคาตามที่กำหนดไว้ครบถ้วน ก็จะได้รับสินค้าที่อยู่ในตู้ขายสินค้ากลับไปทุกครั้งตามจำนวนที่กำหนดโดยมีอุปกรณ์นับไว้อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสินค้าเดียวกัน ประเภทเดียวกัน มูลค่าเท่ากัน ประกอบกับผู้ซื้อสินค้าได้รับทราบขั้นตอนและวิธีการขายสินค้าจากป้ายที่ติดไว้หน้าตู้ขายสินค้า อันเป็นการแสดงเจตนาตรงกันถึงวิธีการเล่นหรือการซื้อสินค้าระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อสินค้าก่อนทำการซื้อ ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงวิธีการซื้อเป็นอย่างอื่นได้ จึงมิได้มีลักษณะการนำมาซึ่งผลการแพ้ชนะกันแต่อย่างใด เพียงประสงค์ให้เกิดความสนุกเพลิดเพลินและเพิ่มทักษะแก่ผู้เล่น โดยมิได้ประสงค์จะให้เป็นเครื่องเล่นการพนัน กรณีนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแพ้ชนะกันได้ระหว่างผู้เล่นกับเจ้าของเครื่องได้

2.2 ตู้คีบสินค้าที่เข้าข่ายเป็นเครื่องเล่นพนัน 

ตู้คีบสินค้าที่ถูกจัดเป็นเครื่องเล่นการพนันที่อยู่ในบัญชี ข. หมายเลข 28 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 โดยมีวิธีการเล่น คือ ผู้เล่นจะต้องแลกชิปมูลค่าเหรียญละ 10 บาท จากนั้นนำไปหยอดที่ช่องและจับคันโยกเลื่อนหาตำแหน่งเพื่อคีบตุ๊กตา จากนั้นกดปุ่มเพื่อให้ที่คีบตุ๊กตาปล่อยตุ๊กตาลงช่อง โดยการเล่นในแต่ละครั้งผู้เล่นจะได้หรือไม่ได้ตุ๊กตา ถือเป็นการพนันเพราะมีการแพ้ชนะกันได้ระหว่างผู้เล่นกับเจ้าของเครื่อง

นอกจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว การจะนำตู้คีบตุ๊กตาไปวางไว้ตามห้างร้านค้าหรือจุดต่าง ๆ จึงต้องดำเนินการขออนุญาตตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายกับฝ่ายปกครองให้เรียบร้อยเสียก่อน เนื่องจากโดยสภาพของเครื่องเล่นเข้าลักษณะเป็นเครื่องเล่นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2530) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 อันเป็นการเล่นพนันตามบัญชี ข. หมายเลข 28 ซึ่งในการจัดให้มีการเล่นดังกล่าวจะต้องได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการติดตั้งตู้คีบตุ๊กตาต้องได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน เพราะหากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 12 (2) แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ศึกษาเทียบเคียงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8600/2547

เครื่องหยิบจับตุ๊กตาอัตโนมัติของกลางเป็นเครื่องเล่นไฟฟ้าอัตโนมัติ ซึ่งผู้เล่นต้องหยอดเหรียญ 10 บาท แล้วกดปุ่มให้เครื่องคนตุ๊กตา จากนั้นจึงจับคันโยกเลื่อนหาตำแหน่งเพื่อคีบตุ๊กตา หากคีบได้ถือว่าผู้เล่นเป็นผู้ชนะ จะได้ตุ๊กตาซึ่งมีมูลค่ามากกว่าเงินที่ต้องเสียไป เป็นแรงจูงใจให้เข้าเล่น หากคีบไม่ได้ถือว่าเป็นผู้แพ้ จะได้เพียงคูปองไปใช้แลกสิ่งของซึ่งมีมูลค่าไม่เกินราคาเหรียญที่หยอด ดังนั้นถึงแม้จะเล่นคนเดียวก็สามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ระหว่างผู้เล่นกับเจ้าของเครื่อง เพราะหากผู้เล่นชนะก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเครื่องเล่น โดยสภาพเครื่องเล่นจึงมิใช่เป็นการให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้เล่นเท่านั้น จึงเข้าลักษณะเป็นเครื่องเล่นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2530) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 อันเป็นการเล่นพนันตามบัญชี ข. หมายเลข 28 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเครื่องเล่นและได้ประโยชน์จากเงินที่ผู้เล่นใช้หยอดใส่ลงในเครื่องเล่นของกลางก่อนลงมือเล่น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนันดังกล่าวขึ้นเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตน จำเลยที่ 1 เป็นผู้เข้าเล่นจะมีความผิดต่อเมื่อทราบว่าเครื่องเล่นของกลางไม่ได้รับอนุญาตให้จัดให้มีการเล่นขึ้น เครื่องเล่นของกลางตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าโดยเปิดเผย บุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าสามารถเข้าเล่นได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดให้มีการเล่นเครื่องเล่นของกลาง จำเลยที่ 1 จึงขาดเจตนาในการกระทำความผิด

โดยลักษณะของเครื่องตู้คีบตุ๊กตา เมื่อเด็กและเยาวชนเห็นก็ต่างมีความรู้สึกต้องการเล่นเครื่องดังกล่าว เพราะอยากได้สินค้าตุ๊กตาภายในตู้สินค้า การเล่นตู้คีบตุ๊กตาจึงมีบทบัญญัติมุ่งคุ้มครองเด็กและเยาวชนไทยไว้ในบัญญัติมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 บัญญัติว่า “…ไม่ให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์หรือไม่บรรลุนิติภาวะเข้าเล่น” 

ดังนั้นกรณีนี้จึงเห็นได้ว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองห้ามมิให้เด็กและเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์หรือไม่บรรลุนิติภาวะเข้าเล่น เพื่อให้ห่างไกลจากการพนันที่เกิดจากการเล่นตู้คีบตุ๊กตาอีกช่องทางหนึ่ง และเห็นควรมีมาตรการจำกัดการเข้าถึงเครื่องเล่นเหล่านี้อย่างเหมาะสม เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าสู่วังวน “คนติดพนัน” ต่อไป

3. ตู้คีบสินค้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าและนำผ่านราชอาณาจักรตามประกาศกระทรวงพาณิชย์

กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการในการควบคุมการนำเข้าและนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสินค้าตู้คีบตุ๊กตาไว้ สรุปได้ดังนี้

3.1 กรณีนำตู้คีบสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร 

ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ประกอบกับประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำเครื่องเล่นเกมเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2548 กำหนดให้ตู้คีบสินค้า ตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภท 95.04 แห่งกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร จัดเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร เนื่องจากโดยสภาพของเครื่องคือ ผู้เล่นต้องแลกชิปมูลค่าเหรียญละ 10 บาท จากนั้นนำไปหยอดที่ช่องและจับคันโยกเลื่อนหาตำแหน่งเพื่อคีบตุ๊กตา จากนั้นกดปุ่มเพื่อคีบตุ๊กตาและปล่อยตุ๊กตาให้ลงช่อง โดยการเล่นในแต่ละครั้ง ผู้เล่นจะได้หรือไม่ได้ตุ๊กตา ถือเป็นการพนันเพราะมีการแพ้ชนะกันได้ระหว่างผู้เล่นกับเจ้าของเครื่อง

3.2 กรณีการนำผ่านตู้คีบสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร 

กฎหมายกำหนดห้ามนำผ่านราชอาณาจักรไว้ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ประกอบกับประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง สินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 ได้กำหนดชนิดสินค้าตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ สรุปได้ว่า ตู้คีบสินค้าจัดเป็นเครื่องเล่นเกมตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภท 95.04 จึงเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร[1] โดยมีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดมาตรการในการกำกับดูแลสินค้าที่นำผ่าน เพื่อป้องกันการใช้วิธีการนำผ่านเป็นช่องทางในการลักลอบส่งออกหรือนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ตลอดจนเพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การสาธารณสุข ความมั่นคงของประเทศ และความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

4. ตู้คีบสินค้าเป็นสินค้าที่มีความผิดและบทลงโทษตามกฎหมายศุลกากร

กรมศุลกากรมีมาตรการสำคัญในป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรและดำเนินการตามหลักประโยชน์ในการปกป้องสังคม เด็กและเยาวชน เมื่อพบว่ามีการนำเข้าหรือนำผ่านสินค้าที่ผิดกฎหมาย ซึ่งตู้คีบสินค้ากฎหมายกำหนดว่า หากผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้าและนำผ่านเครื่องคีบตุ๊กตาตามประเภทพิกัดที่กฎหมายกำหนดห้ามไว้ ผู้นั้นจะมีความผิดและต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 แยกพิจารณาได้ดังนี้

4.1 กรณีนำเข้ามาโดยผ่านพิธีการศุลกากร แต่เข้าลักษณะเป็นของห้ามตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

เครื่องคีบตุ๊กตาเป็น “ของต้องห้าม” (Prohibited Goods) ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 หมายความว่า “ของที่มีกฎหมายกำหนดห้ามมิให้นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักร” กล่าวโดยสรุป “ของต้องห้าม” คือ “ของที่ถูกกำหนดว่าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรและห้ามนำผ่านราชอาณาจักรโดยเด็ดขาด” ผู้ใดฝ่าฝืนนำของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรหรือนำผ่านราชอาณาจักร มีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมายศุลกากรอันเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ 

นอกจากนี้ ผู้ใดพยายามกระทำความผิดฐานนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

4.2 ความผิดฐานสำแดงชนิดสินค้าและประเภทพิกัดอัตราอากรเป็นเท็จ

การสำแดงข้อมูลของตู้คีบตุ๊กตาต่อกรมศุลกากร หากพบว่าผู้นำเข้าสำแดงชนิดของสินค้าไม่ตรงต่อความเป็นจริง เมื่อตามพฤติการณ์ของผู้นำเข้าและประกอบกับลักษณะการกระทำความผิดแล้ว มีลักษณะสำแดงข้อมูลใด ๆ ในใบขนสินค้าหรือการส่งข้อมูลใด ๆ มายังระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรไม่ตรงกับความเป็นจริงสำหรับการนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีลักษณะของการกระทำในหลายกรณี ได้แก่ การกระทำ ยื่น หรือจัด หรือยอมให้ผู้อื่นยื่นใบขนสินค้า เอกสาร หรือข้อมูลซึ่งเกี่ยวกับการเสียอากร หรือปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์ จึงเป็นความผิดฐานสำแดงเท็จตามมาตรา 202 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท 

นอกจากนี้ ตามนัยมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า “การกระทำความผิดตามมาตรา 202 หรือมาตรา 244 ให้ผู้กระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา” ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า แม้ผู้กระทำความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือความผิดฐานสำแดงเท็จจะกระทำโดยมีเจตนาการกระทำผิดหรือไม่ก็ตาม ผู้กระทำก็มีความผิดและต้องรับโทษตามที่กฎหมายศุลกากรกำหนดไว้

4.3 กรณีนำตู้คีบตุ๊กตาเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร

หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีบุคคลนำตู้คีบตุ๊กตาเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร อันเข้าลักษณะเป็นความผิดที่เรียกว่า “ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร” ตามมาตรา 242 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า “ผู้ใดส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ทั้งนี้ คำว่า “ลักลอบหนีศุลกากร” หมายถึง การส่งของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษีอากร หรือของที่มีกฎหมายห้าม หรือกฎหมายควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยมีลักษณะการกระทำที่เป็นการส่งออกซึ่งของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร หรือจะให้เข้าใจโดยง่าย ๆ คือ ของที่มิได้ส่งออกไปตามท่า ที่ หรือสนามบินศุลกากร หรือตามช่องทางที่กฎหมายกำหนดนั่นเอง เจตนารมณ์ของกฎหมายจึงมุ่งเอาผิดกับผู้ที่ลักลอบหนีศุลกากรซึ่งของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรให้ถูกต้อง และความผิดฐานนี้สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้แม้กระทำโดยไม่มีเจตนา เนื่องจากตามนัยมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า “การกระทำความผิดตามมาตรา 202 มาตรา 242 หรือมาตรา 244 ให้ผู้กระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา”

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า ผู้กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรจะกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำหรือไม่ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นหรือไม่ ก็มีความผิดตามมาตรา 242 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 เนื่องจากกำหนดให้ผู้ที่กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

ตามที่กล่าวมาข้างต้น กรณีจึงเห็นได้ว่า “ตู้คีบตุ๊กตา” มีหน่วยงานหลายภาคส่วนมุ่งคุ้มครองและป้องปรามมิให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เพราะลักษณะของตู้คีบตุ๊กตาเมื่อเล่นบ่อย ๆ ครั้ง โดยขาดความรู้และการควบคุมจากบิดา มารดา และผู้ปกครองจะก่อให้เกิดความสนุก เพลิดเพลิน จนทำให้เกิดการเสพติดขึ้น อันจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อเด็กและเยาวชนของชาติจากภัยร้ายของสินค้าที่มาจากเครื่องเล่นอันที่แฝงมากับรูปแบบของลักษณะการพนันได้ ดังนั้นบิดา มารดา และผู้ปกครองต้องตระหนักให้ความสำคัญและเสริมความรู้อย่างถูกต้องต่อไป


[1] “การนำผ่าน” (Bringing in Transit) หมายถึง การนำหรือส่งสินค้าผ่านราชอาณาจักรโดยมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการขนส่งนอกราชอาณาจักร ไม่ว่าจะมีการพักสินค้า การเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะ หรือการเพิ่ม หรือเปลี่ยนภาชนะบรรจุสินค้าในราชอาณาจักรเพื่อประโยชน์ในการขนส่งหรือไม่ก็ตาม และจะต้องไม่มีการใช้ประโยชน์ใด ๆ ซึ่งสินค้านั้น

Top 5 Contents