กำลังโหลด...

×



Tax การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าท...

magazine image
Tax

การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ

  เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564 กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Financial Account Information: CRS MCAA) บทความครั้งนี้จึงขอกล่าวถึงสาระสำคัญและความเชื่อมโยงของความตกลง CRS MCAA ดังกล่าว กับความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters: MAC) และร่างพระราชบัญญัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ พ.ศ. ... ที่กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปล่วงหน้าแล้ว ว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างไร

จุดเริ่มต้นเกิดที่ MAC (Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters: MAC)

   ในปี พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters: MAC หรือชื่อภาษาไทยเรียกว่า ความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี ซึ่งเป็นความตกลงแบบพหุภาคี อันมีสาระสำคัญว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือ 3 ประการหลักระหว่างประเทศภาคี ได้แก่ 

   1. การให้ความช่วยเหลือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล

   2. การติดตามจัดเก็บภาษีค้างชำระ

   3. การจัดส่งเอกสาร

   โดยในส่วนของการแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้น MAC ได้แบ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

   1. การแลกเปลี่ยนตามการร้องขอ (Exchange of Information upon Request: EOIR)

   2. การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ (Automatic Exchange of Information: AEOI)

   3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยไม่ต้องร้องขอ (Spontaneous Exchange of Information: SEOI)

   โดยที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีความตกลง MAC นี้ ส่งผลให้ประเทศไทยได้ขยายเครือข่ายคู่สัญญาในการแลกเปลี่ยนข้อมูล กล่าวคือ ที่ผ่านมาประเทศไทยทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศก็แต่โดยตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ข้อที่ 26 อันว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศเท่านั้น ซึ่งคู่สัญญาตามอนุสัญญาภาษีซ้อนก็มีจำนวนที่จำกัด ปัจจุบันประเทศไทยมีคู่สัญญาตามอนุสัญญาภาษีซ้อนอยู่เพียง 61 คู่สัญญา โดยเมื่อเทียบกับประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคี MAC ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 140 ประเทศ การเข้าร่วมเป็นภาคี MAC ในครั้งนี้ จึงเป็นการขยายเครือข่ายคู่สัญญาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้

   อย่างไรก็ดี ตามความตกลง MAC ไม่ได้บังคับว่า ประเทศภาคีต่างๆ จะต้องทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยอัตโนมัติแต่อย่างใด เพียงแต่กำหนดว่า หากประเทศภาคีต้องการทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ ก็ให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของแต่ละประเทศภาคีนั้น ซึ่งจะเป็นในรูปแบบทวิภาคีหรือพหุภาคีก็ได้ โดยถ้าเป็นความตกลงแบบพหุภาคีเราจะเรียกความตกลงนี้ว่า MCAA หรือ Multilateral Competent Authority Agreement นั่นเอง

CRS MCAA คืออะไร

   พอมาถึงตรงนี้พวกเราอาจจะสงสัยว่า แล้ว CRS มามีความเกี่ยวข้องอะไรกับความตกลง MCAA นี้ คำตอบก็คือ CRS ย่อมาจากคำว่า Common Reporting Standard[1] อันเป็นมาตรฐานที่ OECD และกลุ่มประเทศ G20 ได้พัฒนาขึ้น เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินระหว่างประเทศ (คล้ายๆ กับการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามกฎหมาย FATCA ของสหรัฐ) ดังนั้น ประเทศภาคี MAC ที่ต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินตามมาตรฐาน CRS (Financial Account Information) กับคู่สัญญาหลายๆ ประเทศก็สามารถกระทำได้ โดยลงนามและเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินระหว่างประเทศ (CRS MCAA) ประเทศภาคีที่เข้าร่วมในภาคีดังกล่าว นอกจากการลงนามในความตกลงแล้ว ยังต้องจัดเตรียมกฎหมายภายในให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรฐาน CRS ให้ได้ด้วย มิเช่นนั้นก็มิอาจเริ่มทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศภาคีตามความตกลง CRS MCAA ได้

ทำไมประเทศไทยต้องเข้าร่วมเป็นภาคี CRS MCAA

   เนื่องจากในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) เพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) และเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่พร้อมจะร่วมมือกับ OECD ในการป้องกันการหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยงภาษี และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีเป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศ ซึ่งสมาชิกของ Global Forum มีข้อผูกพันที่จะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรฐานที่ Global Forum กำหนด กล่าวคือ ต้องสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลตามคำร้องขอ (EOIR) โดยไม่สามารถปฏิเสธการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพราะเหตุที่ประเทศตนไม่มีความประสงค์ที่จะจัดเก็บภาษีจากบุคคลนั้น (Domestic Interest) หรือเพราะเหตุที่ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นของธนาคาร สถาบันการเงิน หรือตัวแทน หรือเพราะเหตุที่ว่าข้อมูลนั้นเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากความเป็นเจ้าของของบุคคลหนึ่งๆ และต้องสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติได้ (AEOI) โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัตินี้ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ Global Forum กำหนดคือ CRS ดังนั้นประเทศไทยจึงมีข้อผูกพันที่จะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติตามมาตรฐาน CRS ให้ได้ ซึ่งการเข้าร่วมเป็นภาคี CRS MCAA ก็ถือเป็นการตอบโจทย์ข้อผูกพันในข้อนี้ได้โดยตรงเลยทีเดียว

CRS MCAA กำหนดสาระสำคัญอะไรบ้าง

CRS MCAA เป็นความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินระหว่างประเทศภาคีความตกลง ประกอบด้วย 8 มาตรา ดังต่อไปนี้ 

มาตรา 1                บทนิยาม

มาตรา 2 - 4         การแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีที่ต้องรายงาน

มาตรา 5                การรักษาความลับของข้อมูล 

มาตรา 6                การหารือเกี่ยวกับการตีความหรือการปรับใช้ความตกลงและการแก้ไขความในความตกลง

มาตรา 7                เงื่อนไขของความตกลง

มาตรา 8                ฝ่ายเลขานุการประสานงานของความตกลง

   สาระสำคัญของความตกลงหลักๆ จะอยู่ที่มาตรา 2 ถึงมาตรา 4 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามความตกลง กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของแต่ละประเทศภาคีจะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยอัตโนมัติตามมาตรฐาน CRS กับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศภาคีสมาชิกอื่นๆ เป็นรายปี ทั้งนี้ ข้อมูลที่จะทำการแลกเปลี่ยนระหว่างกันก็คือ ข้อมูลของบัญชีที่ต้องรายงาน (Reportable Account) เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิดของเจ้าของบัญชี หมายเลขบัญชี จำนวนยอด Balance ของบัญชี เป็นต้น รายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศภาคีตามความตกลงนี้จะปรากฏอยู่ในมาตรฐาน CRS ดังนั้นเราจะเข้าใจความตกลง MCAA ได้ เราจะต้องทำความรู้จักกับมาตรฐาน CRS ควบคู่กันไปด้วย

CRS คืออะไร

   มาตรฐาน CRS เป็นมาตรฐานว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินระหว่างประเทศ โดยกำหนดตัวผู้มีหน้าที่รายงานขึ้นมา 4 คนหลัก ได้แก่ นิติบุคคลไทยหรือสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศในไทย ที่ประกอบกิจการ

   1) รับฝากเงิน

   2) รับฝากสินทรัพย์ทางการเงิน

   3) บริษัทประกัน

   4) ดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อหรือแทนลูกค้า

   โดยผู้มีหน้าที่รายงานทั้ง 4 คนนี้ มีหน้าที่ในการทำ Due Diligence หรือการตรวจสอบลูกค้าของตนเองว่า เป็นผู้ที่เข้าข่ายต้องถูกรายงานข้อมูลบัญชีที่มีไว้กับตนหรือไม่

  ถ้าลูกค้าในเข้าข่ายเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน (Reportable Person) ผู้มีหน้าที่รายงานนั้นก็ต้องดำเนินการจัดเตรียมข้อมูลตามที่มาตรฐานกำหนด (ข้อมูลระบุตัวเจ้าของบัญชี ข้อมูลระบุบัญชีนั้น และข้อมูลยอด Balance หรือมูลค่าของบัญชี) และส่งให้กับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศตน เพื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจนำข้อมูลดังกล่าวไปแลกเปลี่ยนกับประเทศคู่สัญญาต่อไป 

ประเทศไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคี CRS MCAA

   เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเข้าเป็นภาคี CRS MCAA ได้ ประเทศไทยต้องออกกฎหมายกำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรฐาน CRS ทำ Due Diligence และส่งข้อมูลลูกค้าที่ต้องรายงานให้กับกรมสรรพากร เพื่อกรมสรรพากรจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปแลกเปลี่ยนกับประเทศคู่สัญญาตาม CRS MCAA ต่อไป

   ด้วยเหตุนี้ กรมสรรพากรจึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ พ.ศ. ...[2] ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีการกำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานกระทำการตามมาตรฐาน CRS และส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ (กรมสรรพากร) พร้อมกับให้อำนาจกรมสรรพากรในการแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้นกับประเทศคู่สัญญาอีกด้วย ร่างพระราชบัญญัตินี้ กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชนตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งร่างดังกล่าวปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการและยังไม่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด

   ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ พ.ศ. ... มีใจความสำคัญ 3 ประการหลัก ได้แก่ 

1. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามความตกลง (อนุสัญญาภาษีซ้อน หรือ MAC) มีอำนาจในการขอข้อมูลจากบุคคลใดๆ เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนข้อมูลตามการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในต่างประเทศได้ (Exchange of Information on Request: EOIR) 

2. กำหนดผู้ที่มีหน้าที่รายงานรวบรวมและรายงานข้อมูลทางบัญชีของลูกค้าที่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศคู่สัญญาตามความตกลง (Competent Authority Agreement (CAA) หรือ Multilateral Competent Authority Agreement (MCAA)) ให้กับกรมสรรพากรในทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติ FATCA เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยอัตโนมัติกับประเทศคู่สัญญาต่อไป (Automatic Exchange of Information: AEOI) ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการในการแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าว จะสอดคล้องกับมาตรฐาน CRS 

3. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามความตกลงสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้มาตาม 1. และ 2. ได้

   ปัจจุบันมีประเทศที่แสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมเป็นภาคีของ CRS MCAA มากกว่า 100 ประเทศ[3] นั่นหมายความว่า เมื่อประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีของ CRS MCAA ประเทศไทยจะได้รับข้อมูลทางบัญชีของผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศไทยที่มีอยู่ในประเทศคู่สัญญามาเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีและสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนชาวไทยต่อไป


[1] https://www.oecd.org/tax/automatic-exchange/common-reporting-standard/

[2] มีข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้เข้าผูกพันโดยการเข้าเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes ได้

[3] https://www.oecd.org/tax/automatic-exchange/international-framework-for-the-crs/

Top 5 Contents