
สิทธิเลือกรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ออกใหม่
27 ธันวาคม 2567
เดิมเป็นที่ทราบกันว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) บางประเภท เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ซึ่งได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ มีสิทธิที่จะเลือกนำมารวมคำนวณภาษีหรือเลือกเสียภาษีตามที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ไว้โดยไม่นำมารวมคำนวณภาษีก็ได้ การให้สิทธินี้จึงเป็นโอกาสในการบริหารจัดการภาษีเลือกทางเลือกที่ให้เสียภาษีอย่างประหยัดที่สุดและถูกต้อง
และตามที่ปัจจุบันธุรกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทในธุรกิจมากขึ้น ซึ่งธุรกรรมประเภทหนึ่งคือ “โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน” โดยเมื่อเดือนกันยายน 2567 กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายให้ทางเลือกที่จะนำรายได้จากโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ก็ได้
บทความฉบับนี้จึงจะกล่าวถึงทางเลือกดังกล่าวรวมถึงข้อควรระวัง
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 789) พ.ศ. 2567 เป็นกฎหมายใหม่ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 โดยมีสาระสำคัญคือ
ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินและผู้จ่ายเงินได้ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้แล้วในอัตรา15% เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้นั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และเฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ขอรับภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
จากสาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 789 ดังกล่าว หากมีเงินได้ที่เป็นผลตอบแทนจากการถือครองโทเคนดิจิทัล เงินได้ดังกล่าวมีทางเลือกที่จะปฏิบัติทางภาษีอย่างใดอย่างหนึ่งคือ
1. นำเงินได้นั้นมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎหมายปกติ และนำภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ไว้มาเป็นเครดิตหากมีภาษีชำระเกินก็ขอคืนภาษีนั้น
2. ไม่นำเงินได้นั้นมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และไม่นำภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ไว้มาเป็นเครดิตและไม่ขอคืนภาษี
การจะเลือกวิธีใดก็ควรพิจารณาว่าวิธีใดเสียภาษีน้อยที่สุดหรือได้คืนภาษีมากที่สุดก็ให้เลือกใช้วิธีนั้น ขึ้นอยู่กับท่านมีเงินได้ทุกประเภทมากน้อยอย่างไร ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่มีเพียงใด ถ้าเงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณภาษีที่อัตรามากกว่า 15% ก็อาจเลือกไม่นำมารวมคำนวณ ดังนั้นต้องทดสอบคำนวณในแต่ละทางเลือกก็จะทราบได้
ความหมายของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน
ในพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 789 ได้ให้ความหมาย “โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน” หมายถึง โทเคนดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกอบกับพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้ให้ความหมายของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกําหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ และการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) ประกาศกำหนด
ข้อควรระวัง
1. รายได้ที่ได้รับสิทธิเลือกรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนนี้เฉพาะรายได้จากส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ผู้ออกหน่วยกำหนดไว้ ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ซ) เท่านั้น หากเป็นกำไรจากการขายโทเคนดิจิทัลจะไม่เข้าข่าย เพราะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ)
2. การเลือกทางเลือกดังกล่าวต้องนำรายได้จากส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์จากการถือครองโทเคนดิจิทัลทุกตัวที่ถือครอง ไม่ใช่เลือกมาแค่บางตัว
การให้สิทธิทางเลือกสำหรับส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดจากการถือครองโทเคนดิจิทัล ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ซ) ดังกล่าวที่กฎหมายใหม่ออกมานั้น เพื่อให้เป็นไปในทำนองเดียวกันกับกฎหมายเดิมสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) และเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) ที่ให้ทางเลือกตามที่ระบุในมาตรา 48 (3) คือ
1. ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงินที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ดอกเบี้ยที่ได้จากสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีก็ได้
2. ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยจะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม
สิทธิทางเลือกที่จะนำมารวมคำนวณภาษีหรือไม่ก็ได้ดังกล่าวข้างต้น เป็นสิ่งที่ควรได้นำมาพิจารณาลองคำนวณภาษีแต่ละทางเลือกก่อน หากวิธีใดประหยัดภาษีสุดก็ควรใช้วิธีนั้น
อนึ่ง สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) ที่เป็นเงินปันผล ก็จะได้สิทธิคำนวณภาษีแบบเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ อีกด้วย ทั้งนี้ การคำนวณก็ไม่ยุ่งยากสามารถทำได้ใน Website ของกรมสรรพากร โดยปัจจุบันระบบ e-Filing ของกรมสรรพากรใช้งานสะดวกมาก หวังว่าผู้อ่านจะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ