
คดี STARK มีความคืบหน้าอย่างไร ?
28 มกราคม 2568
A : บทสรุปคดี STARK ในส่วนของข้อสังเกตของคณะอนุกรรมาธิการ (ต่อ)
4. ข้อสังเกตอื่นที่เกี่ยวข้อง
4.1 สภาวิชาชีพบัญชีฯ ควรเร่งรัดตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดทำบัญชี ผู้สอบบัญชี และมาตรฐานการตรวจสอบบัญชี เพื่อให้ทราบว่าเกิดความเสียหายในขั้นตอนการจัดทำบัญชีในช่วงใด โดยประสานกับสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน ปปง. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน
4.2 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ควรดำเนินการกรณีพบความบกพร่องในการส่งงบการเงินล่าช้าหรือการจัดทำบัญชีผิดปกติของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเบื้องต้นควรแจ้งข้อกล่าวหาผู้จัดทำบัญชีและผู้ทำบัญชีไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ทันภายในอายุความ 1 ปี นอกจากนี้ บทกำหนดโทษตามกฎหมายของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่ามีอัตราโทษไม่มาก เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นหลายพันล้านบาท ดังนั้นจึงควรแก้ไขกฎหมายเพื่อกำหนดบทลงโทษที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย
4.3 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ ควรดำเนินการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการลงทุนหุ้นกู้ STARK เพื่อให้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้หุ้นกู้คืนแก่ผู้เสียหายโดยเร็ว
4.4 กรมสรรพากรควรหารือกับกระทรวงการคลังหรือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับการยึดและอายัดเงินภาษีที่บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ชำระภาษีให้แก่กรมสรรพากร จำนวน 611 ล้านบาท เพื่อนำเงินดังกล่าวมาเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากเป็นเงินที่ได้มาการกระทำความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในมูลฐานฉ้อโกงประชาชน
4.5 กรมบังคับคดีควรประสานกับสำนักงาน ปปง. เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ (จำกัด) ในฐานะลูกหนี้ของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเชิญตัวแทนของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ (จำกัด) และบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ทำแผน มาร่วมหารือเพื่อกำหนดรายละเอียดการจัดทำแผนฟื้นฟูและแผนชำระหนี้ที่ชัดเจน เพื่อนำเงินที่ได้จากการฟื้นฟูกิจการมาชำระหนี้ให้กับบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และสำนักงาน ปปง. จะได้นำเงินมาเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายที่ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิไว้แล้ว
แนวทางการดำเนินการต่อไป
สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ : อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนคดีจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 โดยได้ประสานการทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างต่อเนื่อง ควรมีการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเปิดทางให้สภาวิชาชีพบัญชีสามารถกำหนดมาตรการเชิงป้องกันและติดตามการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า : 1. กรณีความผิดเกี่ยวกับการยื่นงบการเงิน ภายหลังจากที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะมีการออกคำสั่งปรับเป็นพินัยต่อไป หากปฏิเสธข้อกล่าวหาหรือไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่จะสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินการให้มีการฟ้องร้องคดีต่อศาลต่อไป และ 2. สำหรับการจัดทำบัญชีและ/หรืองบการเงินเป็นเท็จ ถือเป็นความผิดตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ผู้ใดลงรายการเท็จ แก้ไข ละเว้นการลงรายการในบัญชีหรืองบการเงิน หรือแก้ไขเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีเพื่อให้ผิดความเป็นจริง และ/หรือในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนด หากมีข้อสรุปผลจากการตรวจสอบว่ากระทำผิด กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
กรมสรรพากร : ได้มีการออกหมายเรียก STARK มาให้ข้อมูลและเชิญผู้สอบบัญชีมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาว่ามีการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ผู้เสียภาษีต้องรับผิดในจำนวนภาษีที่ต้องชำระ พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย : 1. ประกาศให้หุ้นสามัญของ STARK เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าต่ำกว่าศูนย์ มีการเปิดเผยข้อมูลเท็จในงบการเงินและไม่ได้นำส่งงบการเงินภายในเวลาที่กำหนด โดยได้มีการสั่งห้ามการซื้อขายเป็นการชั่วคราว และ 2. กำหนดให้ STARK ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนและปรับปรุงให้มีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขายได้ภายในเงื่อนไขที่กำหนด พร้อมทั้งกำหนดให้ต้องเปิดเผยความคืบหน้าด้วย ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเหตุดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาเพิกถอนหุ้นสามัญของ STARK ต่อไป
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ