การคืนอากรศุลกากร กรณีเสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย
8 กุมภาพันธ์ 2565
การคืนอากรศุลกากร คือการคืนเงินค่าอากรที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้เสียไว้ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร เพื่อนำของออกจากอารักขาของศุลกากรเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แต่มีเหตุตามกฎหมายที่ทำให้เกิดสิทธิในการที่จะเรียกร้องค่าอากรศุลกากรนั้นคืนได้
5 กรณีคืนอากรทั่วไป
การคืนอากรทั่วไปตามกฎหมายศุลกากรนั้นมีหลายกรณี เมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ในส่วนที่เกี่ยวกับการคืนอากร ประกอบกับกฎหมายอนุบัญญัติตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 178/2560 เรื่อง การคืนอากรทั่วไป ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 จะพบว่าการคืนอากรทั่วไปตามกฎหมายศุลกากรหมายถึงการคืนอากรในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่มีการเสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย (มาตรา 25)
(2) กรณีที่ได้เสียอากรเพื่อส่งของออกแล้ว แต่มิได้ส่งของนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร (มาตรา 26)
(3) กรณีของนำเข้าที่ได้เสียอากรแล้วและได้ส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร (Re-export) (มาตรา 28)
(4) กรณีของนำเข้าที่สูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยหรืออุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ที่อธิบดีอนุมัติให้คืนอากรได้ (มาตรา 128)
(5) กรณีอื่นๆ (ที่มิใช่การคืนอากรตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560)
การคืนอากรกรณีที่มีการเสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย
เมื่อพิจารณาเฉพาะการคืนอากรศุลกากรในกรณีที่มีการ “เสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย” นั้น พบว่าอาจเกิดขึ้นเนื่องจากในบางกรณีการปฏิบัติพิธีการศุลกากรเพื่อชำระอากรของผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีการชำระอากรที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนกว่าความเป็นจริง โดยเป็นผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกที่มีหน้าที่เสียอากรแล้ว แต่ได้เสียอากรศุลกากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย เช่น ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีหน้าที่ต้องชำระอากรเพียงจำนวน 9,000 บาท แต่ชำระไปเป็นจำนวน 9,900 บาท ถือเป็นการเสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย หรือในกรณีที่อัตราอากรที่ต้องเสียจริงคือร้อยละ 0 หรือได้รับการยกเว้นอากร แต่ได้สำแดงโดยชำระอากรไว้ เช่นนี้ก็ถือเป็นกรณีที่เสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียเช่นกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก ความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 จึงเปิดโอกาสให้แก้ไขความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการชำระอากรนี้ โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการ “คืนอากร” ให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกที่เสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย มีสิทธิขอคืนอากรศุลกากรนั้นได้
การเสียอากรศุลกากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียนั้นอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ โดยอาจเป็นเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของนั้น หรืออาจจะเกิดจากการคิดคำนวณค่าอากรผิดไป ทั้งนี้ ความในข้อ 9 ของประกาศกรมศุลกากรที่ 178/2560 เรื่อง การคืนอากรทั่วไป ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ได้กำหนดกรณีการเสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียไว้ ได้แก่
(1) เสียอากรจากราคาที่สูงกว่าบัญชีราคาสินค้าหรือเอกสารประกอบอื่นๆ
(2) เสียอากรในประเภทพิกัดและอัตราอากรไม่ถูกต้อง
(3) ผู้นำของเข้าอุทธรณ์การประเมินและผลการอุทธรณ์ทำให้ได้รับการคืนอากร
(4) นำของเข้าไม่ครบตามจำนวน
(5) ของเกิดการแตกหักเสียหายหรือสูญหายที่กรมศุลกากรได้งดการเรียกเก็บอากรตามมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
(6) ตรวจพบชนิดและคุณภาพสินค้าด้อยกว่าสภาพที่สำแดงในใบขนสินค้า
(7) คำนวณเงินอากรผิด
(8) สำแดงสกุลเงิน อัตราแลกเปลี่ยนไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้เสียอากรเกินกว่าที่ต้องชำระจริง
(9) ได้รับลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ผู้นำของเข้าได้เสียอากรไว้ในอัตราที่ยังไม่ได้ลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากร
(10) ได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
(11) ได้รับยกเว้นอากรและลดอัตราอากรตามความตกลงตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
ประเภทและระยะเวลาในการขอคืนอากร
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 25 ได้กำหนดประเภทของการคืนอากรทั่วไป กรณีเสียอากรศุลกากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย แยกได้เป็น 2 ประเภท โดยกฎหมายได้กำหนดระยะเวลาในการขอคืนอากรไว้แตกต่างกันดังนี้
(1) การคืนให้โดย “ไม่ต้องยื่นคำร้องขอคืนอากร”
โดยทั่วไปแล้วผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกที่มีความประสงค์จะขอคืนอากรนั้น จะต้องแสดงความประสงค์โดยการยื่นคำร้องขอคืนอากรต่อกรมศุลกากร แต่ในกรณีที่การเสียอากรศุลกากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียนั้น มีมูลเหตุเกิดจากการ “คำนวณอากรผิด” ซึ่งการคำนวณอากรผิดในที่นี้หมายถึงความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการคิดคำนวณค่าอากร เช่น การบวกลบคูณหารผิดหรือเลื่อนจุดทศนิยมผิดทำให้เสียอากรไว้เกิน กรณีเช่นนี้แม้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกจะปฏิบัติพิธีการศุลกากรโดยนำของออกจากอารักขาของศุลกากรโดยมิได้มีการทักท้วงไว้ตั้งแต่ต้น หรือแม้จะได้รู้ถึงการคำนวณอากรที่ผิดนั้นในภายหลัง แต่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกยังมิได้ยื่นคำขอคืนอากรที่ชำระไว้เกินนั้นต่อกรมศุลกากร ความในมาตรา 25 (1) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ก็ได้บัญญัติเป็นช่องทางให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจที่จะคืนค่าอากรสำหรับส่วนที่เสียไว้เกินนั้นได้ หากความปรากฏชัดต่ออธิบดีว่าผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกเสียอากรไว้เกินเพราะคำนวณจำนวนเงินอากรผิด อธิบดีก็มีอำนาจสั่งให้คืนได้เองโดยไม่จำต้องมีการยื่นคำร้องขอคืนอากร
อย่างไรก็ตาม การคืนอากรศุลกากรในกรณีนี้ มิใช่ว่าอธิบดีกรมศุลกากรจะคืนให้เมื่อใดก็ได้ เพราะการสั่งคืนอากรจะต้องดำเนินการภายในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ “มิให้สั่งคืนเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้นำของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร”
ดังนั้นหากอธิบดีพบข้อเท็จจริงของการเสียอากรศุลกากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียเพราะการคำนวณอากรผิด แล้วอธิบดีจะใช้อำนาจคืนอากรให้ก็จะต้องสั่งคืนให้ภายในกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่ได้นำของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งการ “สั่งคืน” ในที่นี้ หมายความถึงเฉพาะการพิจารณาและสั่งอนุมัติโดยอธิบดีให้คืนเท่านั้นที่จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลา 2 ปี ส่วนการที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกจะใช้สิทธิรับเงินอากรตามที่อธิบดีสั่งคืนให้นั้น ไม่จำต้องดำเนินการภายในกรอบระยะเวลา 2 ปี ดังกล่าวแต่อย่างใด
(2) การคืนให้โดย “ต้องยื่นคำร้องขอคืนอากร”
หากผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรชำระอากรไว้แล้ว แต่พบในภายหลังว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่ต้องเสีย โดยการคิดคำนวณจำนวนเงินค่าอากรผิดพลาดไปจากความเป็นจริง อาจเกิดจากการคิดคำนวณจากราคาศุลกากรหรืออัตราอากรที่ไม่ถูกต้อง หรือใช้สิทธิประโยชน์ในทางภาษีอากรที่ไม่ถูกต้อง มีความคลาดเคลื่อนในการกรอกข้อมูลในระบบพิธีการศุลกากร หรือตรวจพบว่ามีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการคิดคำนวณค่าอากร เป็นต้น ซึ่งเหตุเหล่านี้ส่งผลให้เสียอากรไว้เกิน โดยอาจเป็นกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกตรวจพบก่อนการตรวจปล่อยของนั้น แล้วได้แจ้งความประสงค์ต่อพนักงานศุลกากรก่อนการส่งมอบของว่าตนเสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย หรือเป็นกรณีที่ตรวจพบในภายหลังจากที่ได้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรตรวจปล่อยสินค้าแล้วว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่ต้องเสีย หากผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกประสงค์จะขอคืนอากรศุลกากรที่เสียไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียดังกล่าว ก็ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะขอคืนได้ โดยจะต้องยื่นคำร้องขอคืนอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
เป็นที่น่าสังเกตว่า การคืนอากรให้ในกรณีที่ต้องยื่นคำร้องขอคืนอากรนี้ ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกสามารถยื่นคำร้องขอคืนอากรได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าของนั้นจะได้มีการตรวจปล่อยโดยการส่งมอบหรือส่งออกไปแล้วหรือไม่ และแม้จะไม่มีการแจ้งต่อพนักงานศุลกากรไว้ตั้งแต่ต้นว่าตนประสงค์จะขอคืนอากร ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกที่เสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียดังกล่าวก็ยังคงมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะร้องขอคืนอากรที่เสียไว้เกินนี้ได้
กรณีจึงมีความแตกต่างไปจากการคืนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 10 วรรคห้า ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดิม ที่กำหนดให้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงนั้น กรมศุลกากรจะรับพิจารณาคำเรียกร้องขอคืนอากรเฉพาะกรณีที่ของนั้นๆ ยังมิได้มีการส่งมอบหรือยังมิได้ส่งออกไปเท่านั้น หากมีการส่งมอบหรือส่งออกของไปแล้ว กฎหมายห้ามมิให้รับพิจารณาคำเรียกร้องขอคืนอากรนั้น เว้นแต่ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้แจ้งความไว้ตั้งแต่ต้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรดังกล่าว หรือในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ตั้งแต่ต้นก่อนการส่งมอบหรือส่งออกว่ามีการชำระอากรไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจึงจะรับพิจารณาคำเรียกร้องขอคืนอากรนี้ได้ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขทางกฎหมายที่ต้องมีการพิสูจน์ก่อนจึงจะรับคำร้องขอคืนอากรไว้ได้ กรณีจึงต่างจากพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับคำร้องขอคืนอากรไว้ในลักษณะที่เคร่งครัดเช่นนี้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ยกร่างกฎหมายเห็นว่า แท้จริงแล้วเงินอากรส่วนที่เสียไว้เกินนี้เป็นส่วนที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่ควรที่จะต้องรับภาระมาตั้งแต่ต้น จึงมิได้กำหนดเงื่อนไขทางกฎหมายให้เกิดความยุ่งยากในการขอคืนอากรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการคืนอากรมากขึ้นนั่นเอง
การคืนอากรศุลกากรในกรณีนี้ ความในมาตรา 25 (2) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ “ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนอากรภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่นำของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร” ระยะเวลา 3 ปีในการขอคืนอากรดังกล่าว ถือเป็นระยะเวลาเคร่งครัดที่จะต้องยื่นคำร้องขอคืนภายในกำหนด หากมิได้ยื่นภายในกำหนด แม้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกจะมีจำนวนอากรที่ชำระไว้เกินอยู่จริง ก็ย่อมไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับคืน น่าสังเกตว่าระยะเวลา 3 ปี เป็นระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอคืนเท่านั้น ส่วนการที่จะสั่งคืนให้เมื่อใดนั้น มิได้จำกัดว่าจะต้องอยู่ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี ดังกล่าวแต่อย่างใด
ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เหตุของการขอคืนอากรตามความในมาตรา 25 (2) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 จะต้องเกิดจากการที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก “เสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย” เท่านั้น ปัญหาว่าในกรณีที่เป็นการ “เสียอากรไว้โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย” กล่าวคือ เสียไว้ทั้งที่มิได้เป็นผู้มีหน้าที่เสียอากรในฐานะที่เป็นผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกตามกฎหมายศุลกากร จะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกรอบระยะเวลา 3 ปี ตามความในมาตรา 25 (2) หรือไม่
เช่นกรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2200/2536 ข้อเท็จจริงเป็นกรณีที่จำเลยได้สั่งซื้อหรือนำของเข้ามาในราชอาณาจักรหลายรายการ มีบางรายการที่จำเลยผู้สั่งซื้อสามารถพิสูจน์ตามคำให้การโดยนำสืบได้ว่าผู้ขายส่งสินค้ามาให้ทั้งที่มิได้สั่งซื้อ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่ผู้ขายส่งสินค้าให้จำเลยโดยสับสนผิดพลาดเช่นนี้ ย่อมถือว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อมิได้เป็นผู้นำของเข้าตามกฎหมายศุลกากร จึงไม่มีหน้าที่เสียอากรศุลกากร ย่อมมีสิทธิได้รับคืนเงินที่เสียไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียนั้นได้ มีประเด็นปัญหาว่าการขอคืนเงินในกรณีนี้จะต้องยื่นคำขอคืนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายศุลกากรหรือไม่ กรมศุลกากรในฐานะโจทก์ได้ให้การแก้ฟ้องแย้ง โดยโต้แย้งว่าเกินระยะเวลา 2 ปี ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 10 วรรคห้า (ปัจจุบันคือระยะเวลา 3 ปี ตามมาตรา 25 (2) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560) จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับคืนอากร ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายศุลกากรดังกล่าวใช้บังคับกับผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าอากรและได้ชำระเงินค่าอากรเกินไปจากที่ต้องเสียจริง แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ การที่จำเลยซึ่งมิใช่ผู้นำของเข้าได้เสียเงินไว้เกินนั้น จำนวนเงินที่ชำระจึงมิใช่อากรที่เสียไว้เกินจากจำนวนที่พึงต้องเสียตามกฎหมาย แต่ถือเป็นเรื่องที่มีการชำระหนี้ไปโดยสำคัญผิด อันมีลักษณะเป็น “ลาภมิควรได้” จำเลยจึงมีสิทธิเรียกเอาเงินดังกล่าวคืนได้ภายในอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 406 และมาตรา 419 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อยังไม่เกินอายุความลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลจึงพิพากษาให้กรมศุลกากรโจทก์คืนเงินที่ชำระไว้นั้นให้แก่จำเลย
ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าการเสียอากรไว้โดยที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียนั้นเป็นคนละกรณีกับการเสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย การร้องขอคืนอากรที่เกิดจากการเสียไว้โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกรอบระยะเวลา 3 ปี ตามความในมาตรา 25 (2) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด
การยื่นคำร้องขอคืนอากรและเอกสารหลักฐาน
(1) ผู้ขอคืนอากรทั่วไปกรณีที่เสียไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียจะต้องเป็นผู้นำของเข้า หรือผู้ส่งของออก หรือผู้ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นการทั่วไป ตามคำขอลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรในฐานข้อมูลระบบทะเบียนผู้มาติดต่อของกรมศุลกากร
(2) ผู้ขอคืนอากรจะต้องยื่นคำร้องขอคืนอากรตามแบบขอคืนอากร (แบบ กศก.107) และระบุแจ้งรายละเอียดตามตารางแสดงรายการของใบขนสินค้าขาเข้าและขาออก (แบบ กศก.107 (ก)) แล้วยื่นที่หน่วยงานคืนอากรประจำสำนักงานหรือด่านศุลกากรที่ตรวจปล่อยของ
(3) ผู้ขอคืนอากรจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานประกอบคำร้องขอคืนอากร ประกอบด้วย ต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน (ฉบับจริง) บัญชีราคาสินค้า เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการใช้สิทธิลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร เช่น หนังสืออนุมัติหลักการ สูตรการผลิต ใบตราส่งสินค้า หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นต้น รวมทั้งเอกสารหลักฐานอื่นใดที่เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าตนได้เสียอากรศุลกากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย
การอนุมัติหรือปฏิเสธการคืนอากร
การคืนอากรที่เสียไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียตามความในมาตรา 25 (2) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ทั้งกรณีที่ไม่ต้องยื่นคำร้องขอคืนอากร และกรณีที่ต้องยื่นคำร้องขอคืนอากรนั้น แม้กฎหมายจะกำหนดไว้โดยเฉพาะให้เป็นอำนาจของอธิบดี แต่ในการปฏิบัติงานนั้นอธิบดีจะมอบอำนาจให้ข้าราชการสังกัดกรมศุลกากรเป็นผู้ที่ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากรในการอนุมัติคืนอากรทั่วไป โดยมีการกำหนดวงเงินไว้ดังนี้
(1) ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากร มีอำนาจอนุมัติคืนอากรไม่จำกัดวงเงิน
(2) ผู้อำนวยการส่วนหรือนายด่านศุลกากร มีอำนาจอนุมัติคืนอากรในวงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาท
(3) หัวหน้าฝ่าย มีอำนาจอนุมัติคืนอากรในวงเงินไม่เกิน 5,000,000 บาท
(4) ข้าราชการในตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการที่ได้รับมอบหมาย มีอำนาจอนุมัติคืนอากรในวงเงินตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานหรือด่านศุลกากรกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 2,000,000 บาท
เมื่อหน่วยงานคืนอากรได้พิจารณาอนุมัติคืนอากรแล้ว สำนักบริหารกลาง กรมศุลกากร จะโอนเงินเข้าบัญชีผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก พร้อมกับมีหนังสือแจ้งการคืนอากรให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกทราบ แต่ในกรณีที่การขอคืนอากรรายใด หากสำนักงานหรือด่านศุลกากรที่รับผิดชอบพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่อาจคืนอากรให้ได้ เช่น เอกสารประกอบการพิจารณาไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือมิใช่เป็นกรณีที่เสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย สำนักงานหรือด่านศุลกากรที่รับผิดชอบนั้นก็จะมีหนังสือแจ้งปฏิเสธการคืนอากรให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกทราบ ซึ่งหนังสือแจ้งปฏิเสธการคืนอากรนี้มีสถานะเป็น “คำสั่งทางปกครอง” ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกที่ไม่เห็นด้วยย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 รวมถึงมีสิทธิในการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลได้ต่อไป
****************************************
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ